มีอะไรบ้าง เอ…แล้วเด็ก ๆ สมัยนี้เคยได้เล่นการละเล่นของเด็กไทยแบบนี้กันบ้างไหมเอ่ย
ยุคนี้เด็ก ๆ เข้าถึงเทคโนโลยีสื่อสารได้ง่ายขึ้น ลองดูสิคะ ไม่ว่ามองไปทางไหน ก็จะเห็นเด็กตัวเล็กตัวน้อยเล่นเกมในไอแพด แชทไลน์ เมนต์เฟซบุ๊กกันคล่องปร๋อ ใช้เวลาอยู่หน้าจอสี่เหลี่ยมเกือบทั้งวันทั้งคืน ต่างจากสมัยก่อนที่เด็ก ๆ มักจะชักชวนเพื่อน ๆ ออกมาเล่นการละเล่นพื้นบ้าน ร้องรำทำเพลงกันสนุกสนาน ก็น่าคิดเหมือนกันนะคะว่า เด็กสมัยนี้ยังรู้จักและรู้วิธีเล่นการละเล่นพื้นบ้านของไทยมากน้อยแค่ไหน ส่วนคนที่อายุ 25 ปีอัป น่าจะยังพอจดจำการละเล่นพื้นบ้านเหล่านี้ได้บ้างล่ะน่า
วันนี้กระปุกดอทคอมจะชวนกันมาย้อนอดีตไปในวัยเด็ก ขอรื้อฟื้นความสนุกสนานกับ 10 การละเล่นพื้นบ้าน ที่หลายคนอาจจะหลงลืมไปแล้ว
เล่นซ่อนหา หรือ โป้งแปะ
“เล่นซ่อนหา” หรือ “โป้งแปะ” เป็นหนึ่งในการละเล่นพื้นบ้านที่มีมาช้านาน และยังได้รับความนิยมอยู่ทุกยุคทุกสมัย เพราะกติกาง่าย แถมสนุก และต้องมีการกำหนดอาณาเขต เพื่อไม่ให้กว้างจนเกินไป จนถึงวันนี้ก็ยังมีเด็ก ๆ จับกลุ่มกันเล่นซ่อนหาให้เห็นกันอยู่
โดยกติกาก็คือ คนที่เป็น “ผู้หา” ต้องปิดตา และให้เพื่อน ๆ ไปหลบหาที่ซ่อน โดยอาจจะนับเลขก็ได้ ส่วน “ผู้ซ่อน” ในสมัยก่อนจะต้องร้องว่า “ปิดตาไม่มิด สาระพิษเข้าตา พ่อแม่ทำนาได้ข้าวเม็ดเดียว” แล้วแยกย้ายกันไปซ่อน
เมื่อ “ผู้หา” คาดคะเนว่าทุกคนซ่อนตัวหมดแล้ว จะร้องถามว่า “เอาหรือยัง” ซึ่งเมื่อ “ผู้ซ่อน” ตอบว่า “เอาละ” “ผู้หา” ก็จะเปิดตาและหาเพื่อน ๆ ตามจุดต่าง ๆ เมื่อหาพบจะพูดว่า “โป้ง..(ตามด้วยชื่อผู้ที่พบ)” ซึ่งสามารถ “โป้ง” คนที่เห็นในระยะไกลได้
จากนั้น “ผู้หา” จะหาไปเรื่อย ๆ จนครบ ผู้ที่ถูกหาพบคนแรกจะต้องมาเปลี่ยนมาเป็น “ผู้หา” แทน แต่หากใครซ่อนเก่ง “ผู้หา” หาอย่างไรก็ไม่เจอสักที “ผู้ซ่อน” คนที่ยังไม่ถูกพบสามารถเข้ามาแตะตัว “ผู้หา” พร้อมกับร้องว่า “แปะ” เพื่อให้ “ผู้หา” เป็นต่ออีกรอบหนึ่งได้
ประโยชน์จากการเล่นซ่อนหา ก็คือ ฝึกให้เป็นคนช่างสังเกต สามารถจับทิศทางของเสียงได้ รวมทั้งรู้จักประเมินสถานที่ซ่อนตัว จึงฝึกความรอบคอบได้อีกทาง นอกจากนี้ยังทำให้ผู้เล่นสนุกสนาน อารมณ์แจ่มใสเบิกบานไปด้วย
ที่มาข้อมูล https://hilight.kapook.com/view/50651